วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เดือนแห่งความรัก ก็ต้องคุยกันเรื่องวีซ่าที่เกี่ยวกับความรัก!!!

ตามที่น้าหนวดได้ให้สัญญาไว้ในฉบับที่แล้วว่าจะมาเขียนเกี่ยวกับวีซ่าคู่ครอง เรื่องรักๆใคร่ๆ ต้อนรับวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ให้ได้อ่านกัน...ก็ตามสัญญาครับ ลองอ่านกันดูครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย เชิญอ่านกันได้เลยจร้าาา

วีซ่าคู่ครอง (Partner Visa) แบ่งง่ายๆเป็น 2 ประเภทตามการยื่นวีซ่า ได้แก่ ยื่นจากในประเทศออสเตรเลีย และ ยื่นจากนอกประเทศออสเตรเลีย

โดยการยื่น จากในประเทศออสเตรเลีย ก็จะต้องทำการยื่นทั้งหมด 2 ขั้นตอนคือ
  1. ผู้สมัครจะยื่นวีซ่าคู่ครองแบบชั่วคราว Subclass 820 Partner (Temporary) หลังจากที่ได้ตัว 820 มาแล้วจนครบเป็นเวลา 2 ปี ก็ค่อยทำขั้นตอนถัดไป
  2. ยื่นขอวีซ่าคู่ครองแบบถาวร Subclass 801 Partner (Residence)

ส่วนในกรณีของการยื่น จากนอกประเทศออสเตรเลีย จะแตกต่างออกไป สามารถแยกย่อยออกได้เป็นอีก 2 ทางคือ
  1. ทำวีซ่าคู่ครองชั่วคราว Subclass 309 Partner (Provisional) แล้วค่อยเป็นวีซ่าคู่ครองแบบถาวร Subclass 100 Partner (Migrant)
  2. ทำวีซ่าคู่หมั้น Subclass 300 Prospective Marriage (Temporary) มาก่อนโดยจะต้องมีแพลนการแต่งงานภายใน 9 เดือนเมื่อมาถึงในออสเตรเลีย หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการของวีซ่าคู่ครองแบบชั่วคราว Subclass 820 Partner (Temporary) และ วีซ่าคู่ครองแบบถาวร Subclass 801 Partner (Residence) ในภายหลัง
ถ้ายัง งงงวย อึนอึน ว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องอะไร...เอาเป็นว่าลองอ่านตัวขยายความของแต่ละ subclass ทั้ง 5 ด้านล่างของน้าหนวดดูอีกที น่าจะช่วยได้นะเออ
  • Subclass 300 Prospective marriage (Temporary) – วีซ่าคู่หมั้น

เรียกสั้นๆว่าวีซ่าคู่หมั้น เพราะว่าผู้สมัครต้องมีแพลนที่จะแต่งงานที่ออสเตรเลียภายใน 9 เดือนเมื่อเดินทางมาถึงออสเตรเลีย หลังจากนั้นก็ค่อยยื่นวีซ่าตัวถัดไป 820 Partner (Temporary) หรือวีซ่าคู่ครองชั่วคราวในภายหลัง
  • Subclass 820 Partner (Temporary) - วีซ่าคู่ครอง (แบบชั่วคราว)

วีซ่าประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการยื่นวีซ่าคู่ครองในประเทศออสเตรเลีย หรือผู้ที่ถือ subclass 300 มาจากนอกประเทศออสเตรเลีย โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติดังนี้
    • ต้องแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ฉันท์สามี-ภรรยา ที่เป็นจริง หลังจากการแต่งงานในประเทศออสเตรเลีย หรืออยู่ในความสัมพันธ์ de facto มามากกว่า 12 เดือน โดยสามารถทำได้ทั้งกับความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกันและต่างเพศ
  • Subclass 801 Partner (Residence) - วีซ่าคู่ครอง (แบบถาวร)

วีซ่าตัวนี้เป็นวีซ่าขั้นที่ 2 ต่อจากวีซ่า 820 พอถึงขั้นนี้ก็ CONGRATULATIONS ขอแสดงความยินดีด้วยคร่ะ คุณได้เป็น PR แล้วนะซิ แต่ทั้งนี้ก่อนที่จะมาถึงขั้น 801 คุณๆทั้งหลายจะต้องถือตัว 820 และพิสูจน์ความสัมพันธ์ที่เป็นจริงเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีกับคู่ครองหรือสปอนเซอร์ที่ทำการสปอนเซอร์เราในขั้น 801 จึงจะได้วีซ่าตัวนี้มา...เพราะฉะนั้นเบ็ดเสร็จก็รอไปทั้งหมดเกือบ 3-4 ปีเป็นอย่างน้อยถึงจะได้เป็น PR นะเออ (อันนี้ยังไม่นับรวมระยะเวลารอวีซ่า หรือ processing time ในแต่ละขั้นตอนนะ)
  • Subclass 309 Partner (Provisional) - วีซ่าคู่ครอง (แบบชั่วคราว)

โดยทำการยื่นมาจากนอกประเทศออสเตรเลีย วีซ่าคู่ครอง (ชั่วคราว) ตัวนี้ จะต้องจากนอกประเทศออสเตรเลียเท่านั้น เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในออสเตรเลียไม่มีสิทธิ์ ถ้าไม่สนิทอย่าติดว้าวนะเออ555...โดยคุณสมบัติของผู้สมัครและสปอนเซอร์จะต้องแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีความสัมพันธ์ฉันท์สามี-ภรรยาด้วยกันเป็นเวลา 12 เดือนเป็นอย่างน้อย หรือจดทะเบียนความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกันและต่างเพศก็ได้ ก่อนหน้าที่จะยื่นวีซ่า
  • Subclass 100 Partner (Migrant) - วีซ่าคู่ครอง (แบบถาวร)

เมื่อผู้สมัครแสดงให้ทางอิมฯเห็นว่าความสัมพันธ์นั้นเป็นความสัมพันธ์ที่แท้จริง และยังอยู่ในความสัมพันธ์ร่วมกันกับสปอนเซอร์ 2 ปีนับจากวันที่ยื่น 309 ทางอิมฯก็จะออกวีซ่าประเภทนี้ให้...เมื่อมาถึงขั้นนี้ก็เหมียนเดิม ดีใจด้วยค่ะ คุณได้เป็น PR แล้ว

อ่านกันไปแล้วว่าวีซ่าคู่ครองมีกี่ประเภท อะไรบ้าง และมีขั้นตอนอย่างไร...ก็ข้ามมาอัพเดทข่าวคราวเกี่ยวกับวีซ่าคู่ครองที่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในช่วงปลายปี 2016 ที่ผ่านมากันบ้างดีฝ่าาา คือ ตอนนี้อิมมิเกรชั่นได้เพิ่มกฎขึ้นมาว่าชาวออสเตรเลียที่ต้องการจะสปอนเซอร์คู่หมั้นหรือคู่รักในการยื่น Partner visa หรือ Prospective Marriage visa จะต้องทำการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมด้วย ไม่ว่าจะมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีติดตามมาด้วยหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าระยะหลังมีอัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้น โดยมักจะมีเหตุผลมาจากความรุนแรงในครอบครัว (DOMESTIC VIOLENCE) รัฐบาลออสเตรเลียจึงเพิ่มกฎใหม่ข้อนี้เข้ามาเพื่อคุ้มครองผู้สมัครยื่นวีซ่าอย่างจริงจัง โดยให้มีผลบังคับใช้กับ Partner visa application ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2016 ที่ผ่านมา ซึ่งคดีที่มีผลต่อการถูกปฏิเสธวีซ่า ได้แก่
  1. คดีที่เกี่ยวกับความรุนแรง เช่น ฆาตกรรม การทำร้ายร่างกาย ความรุนแรงทางเพศ และการข่มขู่
  2. การล่วงละเมิดและการลวนลามทางเพศ 
  3. ความผิดต่อคำสั่งศาลเกี่ยวข้องกับความรุนแรง
  4. การใช้อาวุธอันตราย
  5. การลักลอบนำคนเข้าประเทศโดยผิดกฏหมาย
  6. การค้ามนุษย์ ลักพาตัว และกักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างผิดกฏหมาย
  7. รวมไปถึงผู้ที่พยายามจะทำความผิด หรือ ให้ความช่วยเหลือ คำปรึกษาหรือดำเนินเรื่องเกี่ยวกับคดีดังกล่าว
ตบท้ายข้อมูลเกี่ยวกับวีซ่าคู่ครองด้วยข้อแนะนำเบื้องต้นจากคุณหมอวีซ่า สำหรับคนที่กำลังเตรียมตัวหรือมีแผนที่จะยื่นวีซ่าคู่ครองในอนาคตอันใกล้นี้ซักหน่อย
  • ควรอ่านกฎเกณฑ์กับนโยบายที่รัฐบาลกำหนดไว้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ชัดเจนเสียก่อน เริ่มต้นศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วน อย่าไปเชื่อใครง่ายๆ หากจะใช้เอเจนท์ก็ควรตรวจดูให้แน่ใจว่าเอเจนท์ที่จะเลือกใช้ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับองค์กรของรัฐฯที่ชื่อว่า Office of the Migration Agents Registration Authority (OMARA) หรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ https://www.mara.gov.au/using-an-agent/using-a-registered-migration-agent/ ดีกว่าไปเสี่ยงลอยๆ ไปตายเอาดาบหน้า แล้วมีปัญหาในภายหลังนะ
  • ควรเป็นเรื่องจริง ใช้เอกสารจริง ไม่ใช่เป็นกรณีเท็จที่เป็นการจ่ายเงินจ้างแต่ง อันนี้เข้มงวดมากๆ ขอร้องว่าอย่าเสี่ยงทำกันเลย ถ้าโดนจับได้มันไม่คุ้มจริงๆ เพราะผู้ยื่นพร้อมสมาชิกครอบครัวที่พ่วงกันมาจะโดนลงโทษตาม Public Interest Criteria (PIC4020) คือจะเกี่ยวกับผู้ยื่นวีซ่าที่ให้ข้อมูลเท็จ ใช้เอกสารที่ปลอม ถ้าถูกจับได้จะไม่มีสิทธิ์ขอวีซ่าเข้าออสเตรเลียได้อีกเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี ยกเว้นแต่เป็นกรณีที่มีเหตุผลน่าสงสารน่าเห็นใจจริงๆ เท่านั้น
  • เตรียมเอกสารให้ดีๆ โดยเฉพาะการเขียนเรื่องราวที่เป็น Statutory Declaration ก็จะต้องเป็นเรื่องจริงทั้งหมด โดยทั่วไปเอกสารกินอยู่ร่วมที่ใช้ประกอบการยื่นเรื่อง ควรจะสะสมด้วยกันมานานอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับเอกสารของแต่ละคู่ว่ามีอะไรบ้าง ทั้งนี้ระยะเวลาในอุดมคติจริงๆของการเก็บหลักฐานความสัมพันธ์คือ 12 เดือนขึ้นไป เพราะฉะนั้นถ้าไม่ชัวร์อย่าเพิ่งรีบยื่น ช้าๆได้พร้าเล่มงามดีกว่าเยอะ
เขียนถึงวีซ่าคู่ครองแล้ว ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงเจ้าตัว De Facto Relationship ที่เป็นวีซ่าติดตามนักเรียนที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลาย...เดือนแห่งความรักทั้งที ก็ให้ข้อมูลกันแบบจัดเต็มไปเลยละกัน

De Facto Relationship คือ การที่คนสองคนมีความสัมพันธ์ร่วมกันฉันท์สามีภรรยา โดยไม่ได้ปิดกั้นอยู่แค่สำหรับความสัมพันธ์แบบชาย-หญิงเท่านั้น ยังนับรวมถึงความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกันอีกด้วยทั้งชาย-ชาย และ หญิง-หญิง อาจจะยัง งง งง ก่งก๊ง ว่าอิมฯจะเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ตัดสิน เอาแบบให้เห็นภาพอย่างง่ายที่สุดเลยนะ คือ การที่คู่แฟนกันคู่หนึ่งพักอยู่อาศัยใต้ชายคาเดียวกัน โดยต้องมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ และมีพันธสัญญาอื่นๆผูกพันธ์ร่วมกันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีตามกฎเกณฑ์ของอิมฯ หลักฐานพันธสัญญาอื่นๆที่สามารถนำมาใช้ประกอบกับหลักฐานทางที่อยู่อาศัย ก็จะมีดังต่อไปนี้ (อันนี้คือเอาตามบรรทัดฐานของทีมงาน CP Sydney office นะครับ คืออาจจะขอหลักฐานเยอะกว่าที่อื่นๆ แต่เน้นปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า น่าจะปลอดภัยที่สุด) หรือถ้าอยากจะดูลิสต์เอกสารว่าต้องแนบอะไรบ้างสำหรับ De Facto Relationship ก็คลิกดูตามลิงค์นี้ได้เลยครับ https://www.border.gov.au/about/corporate/information/fact-sheets/35relationship
  1. หนังสือรับรองความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นทะเบียนสมรส หรือ Relationship Registration Certificate
  2. บัญชีคู่
  3. หลักฐานการจองเวลาไปเที่ยวด้วยกันต่างๆ เช่น การจองโรงแรม หรือตั๋วเครื่องบิน
  4. รูปถ่าย
  5. จดหมายจากพยาน 2 ท่าน
  6. จดหมายเรื่องราวความสัมพันธ์ของเจ้าตัวทั้ง 2 คน

นอกจากนี้ เรายังมีประสบการณ์ตรงจากทางเจ้าหน้าที่ของ CP Sydney Office ที่ทำวีซ่าติดตามนักเรียนด้วยกันมามากมายไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กันแบบ ชาย-หญิง, ชาย-ชาย, หรือ หญิง-หญิง ก็ตาม มาเล่าสู่กันฟังด้วยนะจ๊ะ โดยคำถามที่มักจะได้ยินบ่อยๆจากน้องๆเพื่อนๆก็คือ

  • จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันเอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี หรือ 12 เดือนตามที่อิมฯกำหนดไหมคะ?
    • คำตอบ ทำได้ครับ แม้ว่าทางอิมฯจะระบุว่าความสัมพันธ์แบบ De Facto Relationship คือการอยู่ด้วยกันฉันท์สามีภรรยาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี แต่ก็ยังระบุไว้เพิ่มเติมว่าทั้งคู่อาจจะสามารถแยกกันอยู่เป็นเวลาชั่วคราวได้เช่นกันโดยที่เขาจะดูในเรื่องของความสัมพันธ์ประกอบกับหลักฐานอื่นๆด้วย ไม่ได้เน้นไปที่การอาศัยอยู่บ้านเดียวกันอย่างเดียว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับหลักฐานความสัมพันธ์ของคู่รักนั้นๆด้วยว่ามีมากน้อยเพียงใด ที่จะสามารถทำให้อิมฯเชื่อในความสัมพันธ์ได้หรือเปล่า
  • ถ้ามีเอกสารไม่ครบเป็นระยะเวลา 1 ปี หรือ 12 เดือนตามที่อิมฯกำหนด จะสามารถยื่นได้หรือเปล่า แล้วจะผ่านไหมคะ?
    • คำตอบ สำหรับข้อนี้ขอใช้กรณีตัวอย่างของน้องคู่นึงมาเป็นคำตอบละกัน น่าจะเห็นภาพชัดเจนที่สุด โดยความสัมพันธ์ของน้องคู่นี้เป็นแบบเพศเดียวกันนะครับ ขอใช้นามสมมติเป็นน้องกุ๊กกับน้องกิ๊กละกัน คือ ต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วงที่น้องกุ๊กเพิ่งมาถึงซิดนีย์ใหม่ๆ น้องก็ได้โทรมาปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของ CP Sydney office ว่า “อยากทำวีซ่าติดตามกับแฟนที่เป็นนักเรียนด้วยกัน ต้องเตรียมตัวเก็บเอกสารหรือทำอะไรยังไงบ้างคะ” ซึ่งทางเราก็ได้แนะนำน้องว่าควรทำอะไรบ้าง ควรจะมีหลักฐานอะไรในการยื่นขอทำวีซ่าติดตามกับแฟนซึ่ง...แล้วน้องคนนั้นก็หายไปประมาณ 3-4 เดือน แต่เดชะบุญน้องกุ๊กก็กลับเข้ามาหาเราที่ออฟฟิศพร้อมหลักฐานตามที่เราได้เคยแนะนำไป ซึ่งพอดูจากหลักฐานแล้วทางเจ้าหน้าที่ก็ได้แนะนำน้องกุ๊กน้องกิ๊กไปว่า หลักฐานของน้องยังดูไม่แข็งแรงพอ แนะนำว่าต้องไปเก็บหลักฐานให้นานกว่านี้ และได้แนะนำให้น้องทั้ง 2 ไปจดทะเบียน Relationship Registration (Relationship Registration จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละรัฐ ซึ่งในปัจจุบันจะมีแค่ ACT, NSW, QLD, TAS และ VIC ที่รับรองการจดทะเบียนแบบดังกล่าว เพราะฉะนั้นถ้าน้องๆเพื่อนๆอาศัยอยู่ใน Northern Territory, Western Australia, หรือ South Australia จะไม่สามารถจดทะเบียนดังกล่าวเพื่อใช้ในการขอวีซ่าติดตามได้นะจ๊ะ) เพื่อเป็นการระบุว่าน้องทั้ง 2 ได้อยู่ในความสัมพันธ์แบบ De Facto จริง เพราะนอกจากจะได้การเอกสารรับรองจากหน่วยงานของรัฐฯแล้ว ยังสามารถช่วยลดระยะเวลาการเก็บเอกสารและไม่มีผลทางกฎหมายอีกด้วย เนื่องจากเอกสารตัวนี้จะไม่เหมือนกับใบทะเบียนสมรสที่มีผลทั้งทางกฎหมาย และใช้ได้กับคู่รักที่มีความสัมพันธ์แบบชายหญิงเท่านั้น...ซึ่งน้องๆก็เชื่อฟังและทำตามแต่โดยดี และพอหลังจากที่ได้ตัว Relationship Registration Certificate มาแล้วน้องกุ๊กก็อยากที่จะยื่นวีซ่าเลย ซึ่งตอนนั้นเราก็ได้บอกน้องไปตามตรงว่า กรณีของน้องยังถือว่ามีความเสี่ยงอยู่เพราะความสัมพันธ์ของน้องเป็นแบบ same sex ด้วย อิมฯอาจจะเข้มงวดมากกว่าแบบชาย-หญิง และเอกสารความสัมพันธ์ก็มีอายุแค่เพียง 6 เดือนเท่านั้น ขออีกสัก 2 เดือนละกันนะ (อันนี้ต้องบอกก่อนว่าวีซ่านักเรียนที่น้องกุ๊กทำมาตอนแรกนั้นน้องได้มาจากที่อื่น เพราะฉะนั้นตัดประเด็นเรื่องเลี้ยงไข้กินหัวคิว ดึงเช็งไปได้เลยนะยูว์) เราทำเรื่องให้น้องทั้ง 2 คนก็อยากให้วีซ่าของน้องผ่านทั้งคู่ ไม่ใช่ว่าผ่านเฉพาะคนเรียนหลักคนเดียว ซึ่งน้องกุ๊กเข้าใจและทำตามที่เจ้าหน้าที่ของเราได้แนะนำไป พอครบกำหนดที่แจ้งน้องไว้เราก็ยื่นวีซ่าให้น้องทั้ง 2 คนตามปกติ หลังจากนั้นให้หลังไม่ถึง 2 สัปดาห์วีซ่าของน้องกุ๊กน้องกิ๊กก็ผ่านทั้งคู่โดยที่ไม่มีการขอเอกสารความสัมพันธ์เพิ่มเติมแต่อย่างใด เรื่องมันก็เป็นตามนี้นะเออ แฮปปี้เอนด์ดิ้งทั้งเราและน้อง จบบริบูรณ์จร้าาา
นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีอีกอย่างหนึ่งว่าหากน้องๆเพื่อนๆนักเรียนได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง เก็บเอกสารครบตามที่ควรจะเป็น และอยู่ในการดูแลที่ดี วีซ่าก็สามารถผ่านได้เหมือนกันค่ะ ไม่เห็นมีความจำเป็นที่จะต้องไปจดทะเบียนสมรสสร้างหลักฐานปลอม หรือไปจ่ายค่าเทอมให้กับคนที่เราไม่รู้จักเพราะจะไปขอติดตามเขาเลย ถ้าอิมฯจับได้ขึ้นมาว่าเป็นเอกสารปลอมไม่เพียงแต่วีซ่าจะไม่ผ่าน ยังมีสิทธิ์ถูกส่งตัวกลับไทยทันที และถูกแบนเป็นเวลา 3 ปีอีกด้วยนะ มันจะได้ไม่คุ้มเสียเอาครับ สิ่งที่เราบอกมันคือ สิ่งที่ถูกต้องแต่มันแค่อาจจะไม่ได้ถูกใจ ก็เท่านั้นเอง 
#ด้วยความปรารถนาดีจากCPSydney


ก็หวังว่าที่เขียนมาทั้งหมดจะเป็นประโยชน์กับทุกๆคนไม่มากก็น้อยนะครับ...หากน้องๆเพื่อนๆคนไหนสนใจอยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับวีซ่านักเรียนออสเตรเลีย หรือวีซ่าตัวอื่นๆ เช่น วีซ่าทักษะทำงาน หรือวีซ่าครอบครัวต่างๆ ก็สามารถติดต่อเข้ามากดไลค์ติดตามข้อมูลดีๆ หรือทักทายกันได้ที่ www.facebook.com/cpsyd หรือสำหรับคนที่อยู่ในออสเตรเลียก็สามารถโทรมาขอคำปรึกษาได้ทุกวันจันทร์ ถึง ศุกร์ (ตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น เวลาที่ซิดนีย์นะครับ) หรือถ้าใครสะดวกเข้ามาที่ออฟฟิศก็เรียนเชิญจร้าาา เบอร์โทร และ ที่อยู่มีให้ไว้อยู่ใน artwork ของเราด้านล่างละครับ
#น้าหนวด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น